Wednesday, November 27, 2013

วิวัฒนาการของบริษัทจนกระทั่งเข้าตลาดหุ้น

ขอพักเรื่องธรรมะก่อนครับแล้ววกมาเข้าเรื่องการลงทุนหุ้นหรือเรียกว่าลงทุนในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์บ้างดีกว่า  โดยบทนี้เป็นการเปิดเผยวิวัฒนาการของบริษัทหนึ่งตั้งแต่เริ่มก่อตั้งไปจนถึงเวลาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์  โดยช่วงเวลาที่บริษัทเติบโตไปนั้นจะมาพร้อมกับตัวเลขมูลค่าบริษัทในรูปแบบต่างๆ ซึ่งผมอยากจะให้สังเกตเอาไว้(ตัวเลขเหล่านี้เป็นตัวเลขสมมุติและเป็นกรณีตัวอย่างที่ไม่มีผลจากวิศวกรรมทางการเงินใดๆเกิดขึ้นเลย)

บทความนี้ยังมีข้อสังเกตที่น่าคิดสำหรับผู้ที่ชอบซื้อหุ้น IPO ที่ในปัจจุบัน(ปีพ.ศ. 2556)กำลังคลอดออกมาอย่างแพร่หลายด้วย

บริษัทหนึ่งเมื่อเริ่มก่อตั้งจะทำการรวบรวมบุคคลมาเป็นผู้ถือหุ้นเพื่อที่ว่าจะได้มีทุนทรัพย์ในการทำเงินของบริษัท แรกเริ่มเดิมทีจะกำหนดขึ้นว่าบริษัทนี้จะมีกี่หุ้นแต่ละหุ้นมีค่าเท่าไหร่ ราคาหุ้นเริ่มต้นที่กำหนดตอนจดทะเบียนบริษัทเรียกว่าราคา PAR ถ้าจะพูดในเชิงบัญชีก็คือณ วันที่ก่อตั้งหุ้นตัวนี้จะมีมูลค่าหุ้นทางบัญชี(ฺBook Value) เท่ากับ 1 บาทถ้าสมมุติว่าราคา PAR ที่กำหนดคือ 1 บาท

ผู้ถือหุ้นแต่ละคนก็เอาทรัพย์สินทุกชนิดไม่ใช่เฉพาะเงินสดมารวมกันแล้วแต่ละคนก็จะได้สัดส่วนการถือหุ้นกันไป

เมื่อทำธุรกิจไปเรื่อยๆในช่วงแรกๆถ้ายังหาลูกค้ามาซื้อได้ไม่มากพอที่จะกลบ Fixed cost ของตัวเองได้และถ้าเป็นอย่างนั้น(หาลูกค้าได้ไม่มากพอจนกำไรไปกลบ Fixed cost)ไปเรื่อยๆจนครบ 1 ปี สรุปบัญชีกำไรขาดทุนตอนสิ้นปีก็จะได้ว่าบริษัทขาดทุนมีความหมายว่ามูลค่าทางบัญชี ณ ตอนนี้คือน้อยกว่า 1 บาทต่อหุ้นแล้ว

สถานการณ์เป็นอย่างนี้ไปจนปีที่ 5 (สายป่านยาวครับเลยอยู่รอดด้วยการขาดทุนถึง 5 ปี!! ระหว่างนี้มีการขายหุ้นของผู้ถือหุ้นเดิมบางคนที่ทนไม่ไหวให้กับผู้ถือหุ้นคนอื่นที่ยึดมั่นในบริษัทด้วยราคา 0.75 บาทต่อหุ้น โดยปีที่ 1 -4 ขาดทุนทุกปีจนทำให้มูลค่าทางบัญชีเหลือ 0.3 บาทต่อหุ้น) บริษัทจึงเริ่มมีกำไรในปีนั้น บริษัทกำไรต่อเนื่องแบบนั้นไปอีก 5 ปี(ปีที่ 6 -10)ที่นี้แหละครับตัวเลขที่ขาดทุนมาตลอดในช่วง 5 ปีแรกจึงถูกแทนทีด้วยกำไรของ 5 ปีถัดมา มูลค่าทางบัญชีจึงกลับมาเท่ากับราคา PAR อีกครั้งหนึ่งคือ 1 บาทต่อหุ้น

เวลาถัดจากนี้ต่อไปอีก 10 ปีบริษัททำกำไรได้ตลอดทุกปีจนทำให้ Book Value ของบริษัทกลายเป็น 8 บาทต่อหุ้น  สิ้นปีที่ 10 บริษัทเห็นว่าอยากเอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนจึงออกหุ้น IPO ด้วยราคา 13 บาทต่อหุ้นเนื่องจากเป็นช่วงที่เศรษฐกิจดีมาก ให้สังเกตว่าราคาหุ้น IPO คือราคาตลาดที่เค้าประเมินออกมาเพื่อมาขายให้ประชาชนนะครับ และแล้วบริษัทนี้ก็ทำกำไรต่อไปอีก 1 ปี ผ่านไป 1 ปีหลังจากออก IPO เกิดวิกฤตฟองสบู่แตก ราคาหุ้นในตลาดของบริษัทนี้จึงเหลือเพียงแค่ 7.5 บาทต่อหุ้นแต่มูลค่าทางบัญชีกลายเป็น 8.5 บาทต่อหุ้นแล้ว

สิ่งที่ผมต้องการจะสื่อในที่นี้คือ

  1. สังเกตว่าบริษัทที่มีกำไรทุกปีนะครับที่อยู่มายิ่งนานวันเรื่อยก็จะมีมูลค่าทางบัญชีมากขึ้นแต่ไม่ได้หมายถึงราคาตลาดนะครับที่มากขึ้นตามเวลา(ขึ้นอยู่กับอารมณ์)
  2. ผมอยากให้แยกให้ออกว่าราคาตลาดกับราคาพื้นฐาน(มูลค่าทางบัญชี)มันคนละตัวกัน
  3. หุ้น IPO มักจะออกมาในช่วงที่ตลาดบูมเสมอ เพราะว่าเป็นช่วงที่ระดมทุนได้เยอะ ถ้าเข้าใจตรงนี้ก็จะเข้าใจว่าในหลายๆครั้งราคา IPO มักจะลดต่ำลงในช่วงแรกๆที่ออกมาเพราะว่ามันจะคอยวิ่งเข้าหาพื้นฐานอยู่เสมอ
  4. มูลค่าทางบัญชีก็คือ Book Value ครับ มีอัตราส่วนทางการเงินที่เกี่ยวข้องคือ P/BV คือราคาตลาดหารด้วยมูลค่าทางบัญชี
อันนี้เป็นพื้นฐานที่อยากให้รู้ก่อนสำหรับมือใหม่ที่อยากลงทุนในหุ้น(บริษัท) ซึ่งสำหรับหลายๆคนอาจจะรู้อยู่แล้วก็ขออภัยด้วยครับ ถ้ามีเรื่องไหนที่สงสัยในประเด็นเกี่ยวกับพื้นฐานหุ้นก็ถามผมนอกรอบได้ครับ ผมยินดี

No comments:

Post a Comment