Friday, July 24, 2015

ความเมตตา...กับ การลงทุน

วันนี้ผมรู้สึกดีมากที่จะเขียน 2 บทความติดกันเลยคือ บทความนี้ และ เรื่อง สิ่งที่ผมกลัว


เมตตาบารมี เป็นอะไรที่สุดยอดและลึกซึ้งมากเลยครับ ( อ่านเพิ่มเติม เรื่องเมตตาบารมี )


ผมขอยกตัวอย่าง 2 เรื่องราวที่ผมซาบซึ้งกับเมตตาบารมี เผื่อจะช่วยให้พวกเราเห็นภาพประโยชน์ของบารมีนี้ครับ "ยังไงก็ตาม" อันนี้คือมุมมองของผมเอง แต่ละคนเลือกที่จะมีมุมมองต่อสิ่งหนึ่งไม่เหมือนกันซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาครับ ไม่ว่ากัน ^_^


1. เรื่องเกี่ยวกับประสบการณ์ชีวิต

ครั้งหนึ่งผมเคยดื่มมาบ้าง ดื่มจนผมมโนไปว่าจะเป่าไม่ผ่าน ซึ่งหลังจากดื่มเสร็จสิ้นและพวกเราแยกย้ายกันกลับบ้าน....ผมขับรถออกจากร้านและกำลังจะไปกลับรถ   ปรากฏว่าเจอด่านก่อนถึงที่กลับรถ

ด้วยความที่อะไรดลบันดาลไม่รู้ครับ...ตัวผมเองเลี้ยวโง่ๆ เข้าซอยไปก่อน วิ่งรถเข้าไปจนอยู่ดีๆ ก็เกิดไอเดียประหลาดว่า เออ!!! ก็ไม่เห็นยาก เราก็เรียกคนที่เดินในซอยนี้ที่ "ดูไว้ใจได้" สักคนนึง แล้วให้เค้าขับรถออกไปจนเลยด่าน และกลับรถไปฝั่งตรงข้ามได้ แล้วเราก็ตอบแทนบุญคุณเค้านิดหน่อยด้วย "เงิน" ไปครับ

ผมเจอเด็กคนนึงซึ่งผมเองต้องวัดใจว่าคนนี้จะเชื่อใจได้ไม่ปล้นเรา ซึ่งมันก็เป็นอย่างนั้นจริง....สิ่งที่เจ๋งไปกว่านั้นคือพอกลับรถไปได้แล้วน้องคนนี้ไม่เอาเงินผมซักบาท ทั้งที่เค้าต้องเสียเวลาและกำลังในการขับรถและเดินข้ามฝั่งมาอีกรอบ

ผมอาจจะคิดไปเองนะว่าที่ผม "เจอ" น้องที่เป็นคนดี ไม่เป็นมิจฉาชีพ และการที่เค้า "เมตตา" ไม่เอาตังเรา รวมไปถึง เราเองที่คิดวิธีติงต๊อง ที่ทำให้ตำรวจไม่เป่าเราได้ ทั้งหมดทั้งปวงนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นเรื่องที่เราทำประจำอยู่แล้ว คือ เมตตาปราณีคนอื่น

ผมคิดว่าคนเราฝึกเมตตาอยู่เรื่อยๆ สุดท้ายแล้วมันไม่เคยสูญเปล่า มันต้องมีคนใจดีให้เรากลับเสมอ

อีกเรื่องคือการที่ผมได้ตั๋วหนังฟรีโดยที่เราจะให้ตังเค้าแล้วเค้าไม่เอาอยู่เรื่อยๆ เลยครับ งงมากๆ



2. เรื่องเกี่ยวกับการลงทุน

คดีความกับบริษัทที่เราลงทุนมันมักจะเป็นของคู่กันเสมอ

ผมจะให้ความสำคัญกับ "ท่าทาง" ที่เมตตาและอ่อนโยนของผู้บริหารที่ไปประชุมผู้ถือหุ้นมาก เป็น Factor หลักๆเลยของการประเมินว่า คดีความที่เกิดกับบริษัทนี้มันเป็นวิกฤตจริงรึเปล่า?

ผมเชื่อว่าความเมตตาของผู้บริหารบริษัทที่เราลงทุน จะช่วยให้ศัตรูปราณีเรา...ศาลเองก็ปราณีเรา จนสุดท้ายแล้ว คดีความก็จบลงด้วยดีเสมอ

ผมเองมีซื้อบริษัทที่โดนคดีความ แต่หลังจากที่ผมเข้าประชุม เลยรู้ได้ว่า "บริษัทเราน่าจะชนะคดีจริงๆ" เป็นเหตุให้ผมเองซื้อหุ้นบริษัทนี้เยอะมาก



แปลกดีนะครับ หวังว่าบทความนี้และก็แนวคิดแปลกๆพวกนี้ จะช่วยเรื่องการวางแผนลงทุน และ ก็เหนือสิ่งอื่นใดคือ "การวางแผนชีวิต" ด้วย เหตุผลก็คือการวางแผนการลงทุนที่ดี ไม่ใช่เรื่องเดียวกับ การวางแผนชีวิตที่ดีแม้แต่น้อย ลองคิดดู


ขอให้นักลงทุนทุกคนโชคดี!!!




สิ่งที่ผมกลัว

คนเราทุกคนมีความกลัวบางอย่างที่ฉุดความเจริญของชีวิตครับ...ในความคิดผมคือถ้าค้นให้เจอความกลัวที่แท้จริงแล้วมันจะ Break limit ของตัวเองมาก


ขอยกตัวอย่างตลกๆในเรื่องความกลัวของผมเองละกัน....ความกลัวของผมตลกมาก... คือ ผมเองกลัว "การเป็นที่โด่งดัง" กับ เคยกลัวว่า "การที่เราไม่สามารถทำให้สังคมสนุกได้"


ผมเองชอบคำพูดของวิทยากรคนนึงครับ...เค้าพูดว่าเราต้องคอย "ทำการบ้านกับจิตใจของคนอื่นและตัวเองอยู่เป็นประจำ"


การกลัวตัวเองดัง เป็น 1 ในเหตุผลที่ทำให้เราไม่ประสบความสำเร็จในบางเรื่องเท่าที่ควร


ในความเห็นของตัวผมเองมองว่า วิธีการแก้ความกลัวประเภทนี้ คือตอบคำถามให้ได้ก่อนว่า "ทำไมเราถึงกลัวดัง?"


ผมได้คำตอบว่าเพราะ ผมกลัวลึกๆมาตลอดว่าตัวผมเอง กลัวการขึ้นเวทีครับ (HAHAHA)


ทีนี้แหละถ้าจะ Break ออกจาก comfort zone คือเราหักดิบขึ้นเวทีมันซะเลย....ฝึกขึ้นเวทีและพูดอยู่เรื่อยๆซะ


อีก 1 เรื่องที่ผมใช้คำว่า "เคยกลัว" คือการกลัวว่าเราจะไม่สามารถทำให้คนอื่นสนุกสนานได้...อันนี้ผมเชื่อว่าผมแก้มันได้แล้วด้วยการหักดิบเล้ยยยย.....ไปหาเหล้ากินกับเพื่อนมันซะเลย (ถึงแม้ว่าจะกินเหล้าไม่เก่งเลยให้ตายเถอะ)


ผมคิดว่าคนเรามีจิตใจบางส่วนที่เป็นจุดอ่อน (ถ้าเราไม่หลอกตัวเองจนเกินไป) ซึ่งถ้าเราค้นหา "สิ่งนั้น" เจอนะครับ....นั่นแหละคือเราจะ Break limit ตัวเอง และพัฒนาความเก่งของตัวเองได้อยู่เรื่อยๆ


ผมเชื่ออย่างนั้น!!

Thursday, July 23, 2015

การเอาตัวรอดใน "ตลาดหุ้นขาลง"

กฎหนึ่งของนักลงทุนคืออย่า "เดาทิศทางของตลาดหุ้น" อย่าลืมว่าถ้าเดาว่าตลาดหุ้นเป็นขาลงแล้วเราขายหุ้นทิ้งหมด...สุดท้ายถ้ามันไม่เป็นขาลงจริงแล้วกลับเป็นขาขึ้น...."ในวันที่หุ้นขึ้นแต่เราถือเงินสดแทนที่จะถือหุ้น...ก็เหมือนกับเรากำลังเสียเงินอยู่(Opportunity Cost)"


ในทางกลับกัน พอหุ้นลงมาเยอะ ก็อย่าคิดเหมือนกันว่า "มันลงมาเยอะแล้ว" เพราะถ้าคิดอย่างนั้น สิ่งที่เราจะทำคือซื้อหุ้น พอซื้อเสร็จก็ลงต่อ พูดง่ายๆคืออย่าถัวเฉลี่ยจนหมดหน้าตัก


ผมเองก็เรียกได้ว่าเป็น VI คนนึง แต่ก็เป็น VI ที่ไม่ได้ยึดติดกับกระบวนท่าหรือหลักการอะไรมาก ในตลาดขาลงนั้น VI ที่ "ยึดติด" คงเอาความคิดผิดๆเช่นหุ้นลงให้ถัวซื้อเพราะราคา "แรก" ที่เราซื้อหุ้นตัวนี้มันเป็นราคาที่เราประเมินแล้วว่า ราคาถูก


สำหรับ Buffett ผมเชื่อว่าในสถานการณ์ที่ราคาหุ้นตกลงต่ำกว่าราคาทุนที่ซื้อ ส่วนใหญ่แล้ว Buffett จะถัวซื้อเพิ่ม


ถ้าเราอยากเลียนแบบ Buffett ด้วยการถัวซื้อ เราคงต้องเลียนแบบวิธีการทั้งดุ้นด้วยนะครับ อย่าลืมว่า Buffett ซื้อหุ้น "ชั้นยอด" เท่านั้น แต่คนห่วยๆอย่างพวกเราส่วนใหญ่จะซื้อหุ้น "ธรรมดา" ที่ราคาถูกแล้วถูกอีก ถูกเว่อไปเรื่อยๆ ราคาที่เราซื้อและเห็นว่ามันถูกส่วนใหญ่แล้วจะมีถูกกว่าราคาของเราลงไปอีก


เหตุผลที่หุ้นชั้นยอดเหมาะกับการถัวเฉลี่ย เพราะราคาพื้นฐานของมันไล่ขึ้นมาเพื่อให้เท่ากับราคาตลาดได้เร็วมาก และนักลงทุนชั้นยอดที่รู้ข้อนี้ดีจึง "ไม่ใคร่จะ" ขายทิ้งถล่มราคาหุ้น


VI ที่ดีคือคนที่ไม่มี EGO (ผมคิดอย่างนั้นนะ) ต้องพร้อมที่จะรับฟังสไตล์การลงทุนของคนอื่น


ผมชอบแนวคิดหนึ่งของ George Soros ในเรื่อง "ปฏิกิริยาสะท้อนกลับ" แนวคิดนี้ทำให้ผมตาสว่างเลยว่า เห้ย! ทุกครั้งที่เราซื้อตอนหุ้นขาลงเนี่ย 100% เลยที่ราคาหุ้นมันจะลงต่อ และทุกครั้งที่ขายหุ้นตอนขาขึ้น ก็ 100% เลยที่ราคามันจะขึ้นต่อ


ถามว่าเกี่ยวอะไรกับ ปฏิกิริยาสะท้อนกลับ? ลองคิดดูนะครับว่าราคาตลาดที่เป็นขาลงของหุ้น มีผลให้คนเล่นหุ้นจนลงไปเรื่อยๆ พอคนเล่นหุ้นจนลงไปเรื่อยๆ ก็มีผลทำให้ไม่มีเงินซื้อของเท่าไหร่ ทำให้ผลประกอบการในไตรมาศถัดไปของบริษัทแย่ลง พอคนทั่วไปเห็นผลกำไรแย่ลงอีกก็ขายหุ้นทิ้งอีก ราคามันก็เลยลงอยู่เรื่อยไงครับ


ราคาน้ำมันก็เหมือนกัน....ถามว่าราคาน้ำมันลงเนี่ยครับ เจ้าของบริษัทน้ำมันจะผลิตน้ำมันเพิ่มไหม? แน่นอนถ้าเค้าอยากได้กำไรมากเท่าเดิมตอนราคาน้ำมันถูกเค้าก็ต้องผลิตเพิ่ม....พอยิ่งผลิตเพิ่ม supply ก็ยิ่งเยอะขึ้น ราคาน้ำมันก็ยิ่งถูกลงไปอีก...


ตลาดหุ้นคงจะหยุด "ขาลง" ก็ตอนที่นักเก็งกำไรหรืออาจจะเป็นนักลงทุนที่ความรู้น้อยขยาดและออกจากตลาดไปจนเหลือแต่พวก "นักลงทุนที่มีความรู้" เช่นพวกกองทุน และก็นักลงทุนเก่งๆที่ช้อนซื้อหุ้นของนักลงทุนคนอื่นที่ขายทิ้งออกจากตลาดหุ้นไป


คิดได้แบบนี้ก็ Cutloss กันบ้างครับแต่อย่าขายจนหมดหน้าตักเพราะมันจะเป็นการ "ซ้ำเติม" ตลาดและอย่าลืมว่าถ้าขายแล้วมันลงต่ออีกนิดเดียวแล้ววิ่งขึ้นเกินราคาที่ขายขาดทุน....เราวิ่งกลับเข้าไปซื้อที่ราคาที่สูงกว่าตอน Cutloss อันนี้ก็อย่าทำเลยครับ เราขายขาดทุนเพื่อให้เรามีเงินสดจำนวนเดียวกันกลับไปซื้อหุ้นที่ราคาถูกลง เพื่อให้ได้จำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้น


ทำใจร่มๆไว้ครับ สู้ๆ ^_^


ปล.บริษัทที่มีคูน้ำหรือป้อมปราการล้อมรอบและคูน้ำนี้ดูแล้วมันจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แถมใหญ่ขึ้นเร็วและยั่งยืนด้วย (กำไรของบริษัทเติบโตเร็ว และ คู่แข่งเข้ายาก) นี่แหละบริษัทชั้นยอดครับ

Sunday, July 19, 2015

คำตอบที่ดีที่สุดของ "เริ่มต้นเล่นหุ้นหรือกองทุนต้องทำอะไรก่อนดี?"

ขออนุญาตไม่นอกเรื่องหรือเกริ่นอะไรทั้งนั้นครับ......คำตอบง่ายๆของคำถามนี้คือ "เริ่มต้นเล่นหุ้นหรือกองทุนต้องเริ่มต้นเล่นหุ้นหรือกองทุนก่อน"


เหมือนเป็นคำตอบกวนๆครับ แต่จริงๆมันก็เป็นอย่างนั้นแหละ พูดง่ายๆก็คือ "อย่าคิดเยอะครับ ให้ลงมือเลย" หลังจากลงมือลงทุนไปแล้ว เชื่อสิครับว่าเราจะเริ่มลนลานและจะพยายามทุกวิถีทางที่จะหาความรู้ให้ได้เร็วที่สุด


วิธีการเปิดพอร์ตหรือเปิดบัญชีกองทุน ก็ง่ายมากครับแค่ตรงดิ่งไปที่สถานที่ที่ทำให้เกิด "ผลลัพธ์" เช่นบริษัทหลักทรัพย์หรือธนาคาร แค่นี้ก็มีบัญชีลงทุนได้แล้ว ง่ายมากๆ


และเพื่อจูงใจให้คนหันมาลงมือปฏิบัติ.....ผมขอเล่าเรื่องราวความผิดพลาดในชีวิตของตัวเองให้ฟังละกันครับ โดยจะเล่าความผิดพลาดในมุมมอง "การวิเคราะห์พื้นฐาน"


ในเรื่องการวิเคราะห์พื้นฐานที่เรียนรู้จากการปฏิบัติ

1. คิดว่าบริษัทที่กู้มากๆจะไม่ดี โอ้ย!!อ่านในหนังสือเค้าก็บอกว่าบัฟเฟตต์หลีกเลี่ยงบริษัทที่มีหนี้มากๆ

 แต่ปรากฏพบว่าในชีวิตจริง ปู่บัฟเองก็ยังลงทุนในบริษัทอย่าง GM เลยครับ ผมเลยกลับมาหาเหตุผล....สุดท้ายก็ถึงบางอ้อว่า "อ๋อ!!! ต้องดูด้วยว่าประเภทธุรกิจของบริษัทเป็นแนวไหนด้วย" การที่บริษัทมีหนี้เยอะแค่ทำให้เรา "ให้คะแนน" บริษัทนี้ลดลงแต่ไม่ใช่ว่าปิดกั้นที่จะไม่ลงทุนบริษัทนี้เลย

2. คิดว่าซื้อบริษัทที่มี P/BV ต่ำกว่า 1 ไว้เยอะๆเราจะมี Margin of Safety

แต่ปรากฏว่าในชีวิตจริง Warren Buffett ก็ซื้อหุ้นที่ P/BV เกิน 1 แทบจะทุกตัวมีเฉพาะช่วงแรกๆของชีวิตลงทุนที่เค้าเชื่อหลักของ Graham มากไปเลยซื้อบริษัทคุณภาพกลางๆแต่ราคาถูก

ชีวิตจริงอีก 1 เรื่องคือ เราคงไม่ได้ลงทุนโดยหวังให้บริษัทเจ๊งแล้วเรายังกำไรหลังจากการชำระบัญชีหรอกครับ (ชำระบัญชีก็คือขายทรัพย์สินของบริษัททิ้งแล้วเอาเงินมาจ่ายเจ้าหนี้ทั้งหลายเสร็จแล้วเอาเงินมาคืนผู้ถือหุ้น) พูดง่ายๆคือ P/BV แค่บอกว่าเราจะเจ็บแค่ไหนตอนบริษัท "ตาย" แต่ P/E จะบอกเราว่าเราจะได้ผลตอบแทนอย่างไรบ้างตอนบริษัทยัง "เป็น" อยู่

3. พอเราเปลี่ยนมาดู P/E บ้างก็เลือกที่ P/E ต่ำๆ การที่ P/E ต่ำๆหมายความว่าเราซื้อหุ้นที่ราคาหุ้นถูก ผลก็คือกำไรของบริษัทมันจะกลบทุนที่เราซื้อหุ้นนั้นๆ ได้เร็วขึ้น เช่น ถ้าเราซื้อหุ้นที่ P/E = 11 และกำไรของบริษัทยังเป็นเท่าเดิมอีก 11 ปี และให้ปันผลเราจากกำไรของบริษัททั้งหมด และปันผลนั้นไม่เสียภาษีด้วย...จะใช้เวลา 11 ปีที่ผลรวมปันผลที่ได้จะเท่ากับทุนที่ซื้อหุ้นตัวนั้น

แต่ปรากฏว่าชีวิตจริงคือเราก็ดันไปซื้อตอน P/E ต่ำจริง แต่ต่ำเพราะปีที่ผ่านมาทั้งปีมันเป็นปีที่กำไรบริษัทสูงเป็นประวัติการณ์แถมยังมีกำไรพิเศษเติมเข้ามาด้วย



ดูๆแล้วถ้าชีวิตลงทุนผิดพลาดเยอะขนาดนี้ คงมีคำถามว่า  "ที่ลงทุนที่ผ่านมาได้กำไรเหรอ?" ผมตอบเลยว่าได้ครับ ได้ทั้งในรูปตัวเงิน และในรูปของความรู้และประสบการณ์  เช่น เดิมมีเงิน 10 บาท ผ่านไป 6 ปีเพิ่มเป็น 18 บาท แต่เราควรที่จะได้เป็น 30 บาท(ถ้าเราวิเคราะห์หุ้นเก่งกว่านี้...หรือถ้าลงทุนด้วยสัดส่วนทรัพย์สินที่มากกว่านี้....หรือถ้าลงทุนด้วยเงินกู้มากกว่านี้...หรือซื้อหุ้นบางตัวช้ากว่านี้....หรือ Cutloss เร็วกว่านี้) ผมเลยได้ผลตอบแทนรูปแบบตัวเงินคือ 8 บาท และรูปแบบความรู้และประสบการณ์อีก 12 บาท ผมกล้ายอมรับอย่างลูกผู้ชายเลยว่า 8 บาทที่ได้มานี่เพราะโชคช่วยล้วนๆ อย่าลืมว่า 6 ปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นมันเป็นขาขึ้นตลอด


สำหรับนักลงทุนหน้าใหม่ที่ยังไม่เริ่มหรือเริ่มแล้วแต่ขาดทุนก็อย่าคิดมากครับให้ถือซะว่าเรา "ซื้อประสบการณ์" ด้วยราคาเดียวกับจำนวนเงินที่ขาดทุนนั่นแหละ


โชคดีกับการลงทุนครับ ^_^